EIC SCB ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 3.2% ปรับลดลงจากเดิมที่ 3.4% ตามผลของการระบาด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ถึงช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า แต่คาดว่าผลกระทบจะน้อยกว่า Delta ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึก
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (EIC SCB) เปิดเผยว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 โตดีกว่าคาดที่ 1.1% จากเดิม 0.7% ตามการระบาด COVID-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และมาตรการควบคุมโรคที่ผ่อนคลายลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจทยอยปรับฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับสูงจากทั้งปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า และการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก และในปี 2565 EIC ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็น 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4% โดยจะเป็นการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ
ทั้งนี้ EIC ประเมินว่า การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2564 จะเติบโตได้ถึง 16.3% สำหรับปี 2565 EIC ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็น 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4% ตามผลกระทบของ Omicron ต่อภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นในช่วงต้นปี ในภาพรวมยังถือเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามอัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เอื้อให้เกิดการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในส่วนของการส่งออกสินค้าของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าโลกโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปีนี้ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเผชิญความเสี่ยงจากการระบาด Omicron โดยในกรณีฐาน EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 2565 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน บนพื้นฐานสมมุติฐานที่ผลกระทบของ Omicron จะจำกัดอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ขณะที่ในกรณีเลวร้าย (worse case) EIC ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.6 ล้านคนตามการจำกัดการเดินทางของประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่อาจยืดเวลาการเปิดประเทศออกไปเป็นในปี 2566
สำหรับการใช้จ่ายในประเทศในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอานิสงส์ของการกระจายวัคซีนในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาดำเนินการได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้นที่จะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายที่มาจาก pent-up demand ของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ ประกอบกับยังจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่คาดว่าจะยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่อง Omicron อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการใช้จ่ายลงจากความกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจมีมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในบางจุดซึ่งจะกระทบกับการใช้จ่ายโดยตรง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศในภาพรวมจะเป็นไปอย่างช้าๆ จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่จะยังมีผลต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซา โดยล่าสุด อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 อยู่ที่ 2.3% ถือเป็นจุดสูงสุดใหม่สำหรับอัตราการว่างงานในช่วง COVID-19 และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 นอกจากนี้ จำนวนคนทำงานต่ำระดับ (underemployed) และคนเสมือนว่างงาน (furloughed) ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก EIC คาดว่าตลาดแรงงานไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จาก 1) อุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) จากคนว่างงานและคนทำงานต่ำระดับที่มีจำนวนมาก 2) กำลังในการจ้างงานของภาคธุรกิจ SME ที่ถดถอยลง และ 3) ปัญหาทักษะไม่สอดคล้องกับความต้องการ (skill mismatch) จากประเภทงานและทักษะแรงงานที่ต้องการที่เปลี่ยนไปในช่วง COVID-19 ทั้งนี้แนวโน้มตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จะส่งผลต่อความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง
EIC มองว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพและมี output loss ที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับความเสี่ยงด้านต่ำจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีสูง ภาครัฐจึงยังควรคงบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจในปีหน้า โดยการพิจารณากู้เงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากการคำนวณของ EIC พบว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 แต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพมาก จึงทำให้มี output loss ในระดับสูงและผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น โดยกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2562 อาจจะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2566
ทั้งนี้ การปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพหรือมีแผลเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นเวลานานจะส่งผลเสียระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ผ่าน 1) จำนวนธุรกิจที่ต้องปิดกิจการมากขึ้น ทำให้การจ้างงานและการลงทุนลดลงมาก กระทบต่อศักยภาพในการเติบโตในระยะข้างหน้า 2) คนว่างงาน
ไม่สามารถหางานได้หรืออยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่ตรงกับทักษะ ทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียรายได้เป็นเวลานาน ขาดการพัฒนาทักษะ
ที่เหมาะสม และอาจกลายเป็นผู้ว่างงานระยะยาวซึ่งจะกระทบกับผลิตภาพ (productivity) ของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่ากับแรงงานที่มีรายได้น้อยและทักษะไม่มาก รวมถึงธุรกิจ SME ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยยิ่งถ่างกว้างขึ้น เสี่ยงต่อการก่อเกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
ขณะที่ในปี 2565 แรงส่งจากการใช้จ่ายของภาครัฐในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินที่จะเหลือเพียงราว 2.6 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ด้วยความจำเป็นในการเยียวยาแผลเป็นทางเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงด้านต่ำที่มีสูงขึ้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติม โดยภาครัฐควรเน้นการจัดสรรเม็ดเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะมาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน (Upskill/Reskill) มาตรการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของธุรกิจ SME และการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับกับโครงสร้างเศรษฐกิจและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกภายหลัง COVID-19 ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังใหม่ที่กำหนดเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP ทั้งนี้ระดับหนี้สาธารณะปัจจุบันยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศอยู่ในระดับสูง โดยภาครัฐต้องสื่อสารถึงแผนการลดระดับหนี้ในระยะปานกลางที่น่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลัง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 และปี 2565 ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำในหลายมิติ ประกอบด้วย 1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดประสิทธิภาพวัคซีนลง 2) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ 3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมากและปัญหาคอขวดอุปทานโลก ซึ่งอาจมีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากกว่าคาด จนทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 4) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอกว่าคาดจากความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์
“การประเมินจีดีพีในปี 65 เราได้รวมผลจากโอมิครอนไปแล้ว โดยในกรณีฐานมองว่ามองที่ระดับ 3.2% แต่หากกรณีดีกว่าฐานที่การระบาดไม่รุนแรง ภาครัฐมีการอัดฉีดเพิ่มจีดีพีอาจจะเพิ่มเป็น 4.1% แต่หากเป็นกรณีเลวร้ายจีดีพีอาจต่ำกว่าที่คาดไว้อยู่ที่ 2.3% ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าคาดการณ์ที่ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปีนี้ที่ 3.3แสนคน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงการเกิดโควิด-19 มาก และยังจะกลับไปสู่จุดเดิมได้เมื่อไหร่นั้น ยังค่อนข้างยากที่จะประเมิน เพราะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยคือจีนยังไม่เปิดประเทศ และยังมีการกลายพันธุ์ของไวรัสอยู่ต่อเนื่อง”
ด้านนโยบายการเงิน EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2565 และเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการทางการเงินเพื่อกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้ทั่วถึงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางในต่างประเทศจะมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลปัญหาเงินเฟ้อ แต่ EIC ประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่กดดันให้ กนง. ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เนื่องจาก 1) เศรษฐกิจยังต้องการแรงสนับสนุน ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบนโยบาย แม้เงินเฟ้อของไทยจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงปีหน้า แต่จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-3% (EIC คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 อยู่ที่ 1.2% และปี 2565 อยู่ที่ 1.6%) รวมทั้งเงินเฟ้อที่เร่งตัวมาจากปัจจัยด้านอุปทานตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่างๆ เป็นสำคัญ ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดจากการที่ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพพอสมควร และ 2) เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง (3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) จึงทำให้ความเสี่ยงที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในปริมาณมากหรือเงินบาทจะอ่อนค่าอย่างรุนแรงจากดอกเบี้ยส่วนต่างกับต่างประเทศที่กว้างขึ้นมีน้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น บราซิลหรือรัสเซีย ที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างเร็วและมากเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ
“แม้เราคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า 2 ครั้ง แต่คาดว่า ธปท.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดัยเดิมเพราะให้น้ำหนักกับเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า ขณะที่เงินเฟ้อที่เร่งขึ้นไม่น่าจะสูงนัก โดยเรามองอัตราเงินเฟ้อปีหน้าที่ระดับ 1.6% จากปีนี้ที่ 1.2%”
สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่ามีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ โดยนับตั้งแต่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล จนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลง 1.4% จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับแย่ลง ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทยโดยเฉพาะในตลาดหุ้น สำหรับแนวโน้มเงินบาท ณ สิ้นปี 2565 EIC คาดว่าอาจกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก 1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการเปิดเมืองหลังมีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น 2) ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุลลดลง (คาดขาดดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีนี้ที่ขาดดุล 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและค่าระวางสินค้าที่จะทยอยลดลง และ 3) เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ยังมีแนวโน้มไหลเข้ากลุ่มประเทศ EM และไทย ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่ม EM ที่จะเร่งตัวขึ้นตามการเปิดเมือง อย่างไรก็ดี EIC มองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเช่นกัน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ที่จะตึงตัวขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอตัวลง รวมถึงความไม่แน่นอนของปัญหาคอขวดด้านอุปทาน (supply bottleneck) และการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ที่ยังมีอยู่มาก ทำให้นักลงทุนจะยังถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐอยู่บ้าง ทั้งนี้ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มผันผวนและอ่อนไหวค่อนข้างมากตามปัจจัยที่เข้ามากระทบโดยเฉพาะจากข่าวการระบาด COVID-19 รอบใหม่ๆ ที่จะกระทบต่อแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของตลาดต่อมุมมองนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอลงจากปีก่อน แต่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญโดยเฉพาะจาก COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ (เช่น Omicron) และปัญหาการขาดแคลนด้านอุปทานที่อาจทำให้เงินเฟ้อและการตึงตัวของภาวะการเงินโลกสูงขึ้นมากกว่าคาด EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ขยายตัว 4.1% ชะลอลงจาก 5.8% ในปี 2564 แต่ถือเป็นการฟื้นตัวในเกณฑ์ดีที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคตามการทยอยเปิดเมืองสะท้อนอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EMs) ซึ่งจะนำไปสู่การเร่งบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในช่วงต้น (pent-up demand) และการขยายตัวของการลงทุนทั้งการเพิ่มระดับสินค้าคงคลังที่ลดลงไปมากในช่วงก่อนหน้า (inventory restocking) และการลงทุนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าและการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในภาพรวมความแตกต่างของการฟื้นตัวในปีหน้าระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงจากปีก่อนหน้า จากการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเร่งฉีดวัคซีนได้มากขึ้นและจะเป็นแรงส่งการเติบโตตามหลังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่การฉีดวัคซีนทำได้ครอบคลุมไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพื่อกลับไปสู่ระดับการเติบโตตามศักยภาพของประเทศต่างๆ จะยังมีความเร็วที่แตกต่างกัน (multispeed) ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านวัคซีน ยา และระบบสาธารณสุข ความสามารถของการใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพได้เร็วจากมาตรการการคลังขนาดใหญ่ ขณะที่สหราชอาณาจักรจะถูกกดดันเพิ่มเติมจากผลกระทบของ Brexit และจีนจะเผชิญความท้าทายจากนโยบาย zero-COVID และปัญหาระดับหนี้ที่สูงในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นมาก
อย่างไรก็ดี ต้องจับตาความเสี่ยงสำคัญ 2 ปัจจัยที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ 1) การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะสายพันธุ์ “Omicron” ที่การศึกษาเบื้องต้นชี้ว่าสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น และอาจลดประสิทธิผลของวัคซีนในปัจจุบันต่อการป้องกันการติดโรค ถึงแม้อาการของผู้ป่วยจะรุนแรงน้อยกว่า ก็อาจส่งผลกระทบให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสะดุดลงได้ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า หลังหลายประเทศเริ่มจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศบางส่วนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนั้น หากยังมีหลายภูมิภาคของโลกที่ยังฉีดวัคซีนได้ล่าช้าจะมีความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงกว่าเดิมขึ้นได้อีก และ 2) ปัญหา supply chain disruption ที่อาจยืดเยื้อกว่าที่คาด ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหา supply chain disruption ปรับรุนแรงขึ้น ไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นมามาก จนทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยเป็นผลจาก 4 ช่องทาง คือ
1) การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีการประกาศล็อกดาวน์และปิดโรงงานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก จนเกิดการขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบ 2) การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส และมาตรการสนับสนุนรายได้จากภาครัฐ ที่ลดแรงจูงใจในการกลับมาทำงานของแรงงาน 3) ความล่าช้าในการขนส่งและความแออัดของท่าเรือ ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อกลุ่มสินค้าคงทน โดยเฉพาะกลุ่มที่ขนส่งทางน้ำ และ 4) การลงทุนใหม่ในการขยายกำลังการผลิตของสินค้าพื้นฐาน เช่น พลังงาน และเซมิคอนดักเตอร์ ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้เกิดการขาดแคลน อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าปัญหา supply chain disruption จะทยอยคลี่คลายลงได้ในปี 2565 โดยราคาสินค้าอาจยังอยู่ในระดับสูง แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของราคาหรือเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่โรงงานอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกกลับมาเปิดทำการได้ และภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานก็มีแนวโน้มปรับดีขึ้นหลังเม็ดเงินสนับสนุนจากภาครัฐในประเทศหลักทยอยหมดอายุลง ประกอบกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่ลดลง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในบางอุตสาหกรรม ทำให้แรงงานมีแนวโน้มทยอยกลับเข้าตลาดแรงงานมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิปที่ถึงแม้ล่าสุดจะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนเพิ่ม แต่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยช่วงปี 2566 กว่าที่อุปทานใหม่จะออกมาเพียงพอต่อความต้องการในตลาดโลก ในภาพรวม ปัญหา supply chain disruption น่าจะทยอยคลี่คลายลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลงแต่จะยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิด COVID-19
ทั้งนี้แรงกดดันเงินเฟ้อได้ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งทยอยลดการผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินลง โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE tapering) ในอัตราที่เร็วขึ้น จากความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า QE Tapering อาจสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม และอาจทำให้ Fed สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2565 โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกอาจทำได้อย่างเร็วในช่วงกลางปี สำหรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) นั้น ได้ดำเนินการทำ QE Tapering ไปแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ดี ด้วยตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวช้ากว่า และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าสหรัฐฯ ทำให้คาดว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันจนถึงปี 2567
อ้างอิง
https://www.mgronline.com/stockmarket